หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์
ทำให้พระประยูรญาติละทิฐิยอมถวายบังคม
ก็บังเกิดฝนโบกขรพรรษพระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า ฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่อง
มหาเวสสันดรชาดก หรือเรื่องมหาชาติ ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ตามลำดับ ดังนี้ กัณฑ์ทศพร
กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนปเวสน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน
กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักกบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์กษัตริย์ และกัณฑ์นครกัณฑ์
กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร มี ๑๙ พระคาถา
กล่าวถึงปฐมเหตุที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดกแก่ภิกษุทั้งหลาย
ณ นิโครธารามมหาวิหาร
โดยเริ่มเรื่องจากการกำเนิดพระนางผุสดีผู้ถวายแก่นจันทร์บดแด่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
และตั้งจิตปรารถนาว่า ขอให้ได้เป็นพระพุทธมารดาในอนาคต
เมื่อได้บังเกิดในสวรรค์ได้เป็นมเหสีของพระอินทร์
ในกัณฑ์นี้กล่าวถึงนางดุสดีจะต้องจุติจากสวรรค์พระอินทร์จึงประทานพร ๑๐
ประการให้นางผุสดี ได้แก่ ๑.ขอให้เกิดในกรุงมัทราช แคว้นสีพี
๒.ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย ๓.ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
๔.ขอให้ได้นาม “ผุสดี” ดังภพเดิม ๕.ขอให้มีพระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
๖.ขอให้พระครรภ์งาม ไม่ป่องนูนดังสตรีสามัญ
๗.ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานไม่คล้อยลง ๘.ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ
๙.ขอให้ผิวพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
๑๐.ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้
กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ มี ๑๓๔
พระคาถา
กล่าวถึงนางผุสดีซึ่งจุติจากสวรรค์ลงมาประสูติเป็นพระธิดากษัตริย์มัทราชและได้เป็นพระมเหสีพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งแคว้นสีพี
พระนางผสุดีได้ประสูติพระเวสสันดรในขณะประพาสชมพระนคร
และขณะนั้นนางช้างฉัททันต์ก็ได้นำลูกช้างเผือกมาไว้ในโรงช้างต้น
ต่อมาลูกช้างเผือกตัวนั้นได้ชื่อว่า “ปัจจัยนาเคนทร์” มีคุณวิเศษ
คือ ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
พระเวสสันดรใฝ่ใจในการบริจาคทาน
เมื่อได้เสวยราชสมบัติและอภิเษกกับนางมัทรีแล้ว ได้ตั้งโรงทานถึง ๖ แห่ง
และเมื่อพระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับชาวเมืองกลิงคราษฎร์
ซึ่งเป็นเมืองที่แห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพงมาหลายปี
ทำให้ชาวเมืองสีพีโกรธและเรียกร้องให้พระเจ้ากรุงสญชัยทรงลงโทษพระเวสสันดรพระเจ้ากรุงสญชัยจึงทรงเนรเทศพระเวสสันดรไปจากเมือง
กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙
พระคาถา
เมื่อนางผุสดีทรงทราบว่าพระเวสสันดรถูกเนรเทศ
พระนางจึงทูลขอโทษ แต่พระเจ้ากรุงสญชัยมิได้ตรัสตอบ
พระนางจึงเสด็จไปที่พระตำหนักพระเวสสันดรและทรงรำพันต่างๆ นานา
รุ่งขึ้นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทาน
แล้วจึงพาพระนางมัทรีและสองกุมารเข้าไปทูลลาพระเจ้ากรุงสญชัย
พระเจ้ากรุงสญชัยทรงห้ามพระนางมัทรีมิให้ติดตามไปด้วย
เพราะจะได้รับความลำบากในป่า แต่พระนางมัทรีก็ทูลถึงเหตุผลอันเหมาะสมที่พระนางจะต้องตามเสด็จพระเวสสันดรในครั้งนี้
พระเจ้ากรุงสญชัยจึงขอสองกุมารให้อยู่กับพระองค์ แต่พระนางมัทรีก็ไม่ยินยอม
จากนั้นทั้งสี่พระองค์ก็ได้เสด็จไปทูลลาพระนางผสุดี รุ่งขึ้น
พระเวสสันดรให้พนักงานเบิกแก้วแหวนเงินทองบรรทุกรถเสด็จออกจากเมือง
ทรงโปรยแก้วแหวนเงินทองเหล่านั้นเป็นทานแก่ยาจกโดยทั่วหน้า
แล้วจึงตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์กลับคืนมายังเมือง
ส่วนพระองค์พร้อมทั้งพระนางมัทรีและกัณหาชาลีก็มุ่งสู่ป่า
มีพราหมณ์มาทูลขอรถทรงและม้าทรง พระองค์ก็ทรงบริจาคให้จนหมดสิ้น
พระเวสสันดรจึงอุ้มพระชาลีและพระนางมัทรีอุ้มพระกัณหาเสด็จพระดำเนินต่อไปด้วยพระบาท
กัณฑ์ที่ ๔ วนปเวสน์ มี ๕๓ พระคาถา
กล่าวถึงการเดินทางของพระเวสสันดรไปยังเขาวงกต
ซึ่งมีพระนางมัทรีและชาลีกัณหา อันเป็นพระโอรสและพระธิดาตามเสด็จด้วย
ได้พบกับเจ้าเมืองเจตราษฏณ์ เจ้าเมืองเจตราษฏร์มอบให้พรานเจตบุตรเป็นผู้ดูแลมิให้ใครเดินทางไปรบกวนพระเวสสันดรที่เขาวงกต
กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก มี ๗๙ พระคาถา
กล่าวถึงพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า
ชูชก เป็นคนเข็ญใจไร้ญาติเที่ยวเร่ร่อนขอทาน
จนกระทั่งถึงแก่ชราจึงรวมเงินได้ถึงร้อยกษาปณ์
เห็นว่าถ้าเก็บไว้กับตัวก็จะเป็นอันตราย จึงนำไปฝากกับเพื่อนคนหนึ่งแล้วก็เที่ยวขอทานต่อไป
เวลาล่วงเลยมาหลายปี เพื่อนผู้รับฝากเงินไว้เห็นว่าชูชกไม่กลับมาคงจะล้มตายไปแล้ว
จึงได้นำเงินที่ชูชกฝากเอาไว้ไปใช้จ่ายจนหมดสิ้น
เมื่อชูชกกลับมาเพื่อนคนนั้นไม่มีเงินให้จึงต้องยกลูกสาวชื่อนางอมิตตดาให้เป็นภรรยาชูชก
นางอมิตตดา ปรนนิบัติสามีตามหน้าที่ของภรรยาที่ดีทุกอย่าง จนทำให้พราหมณ์อื่นๆ
ในหมู่บ้านนั้นตบตีดุด่าภรรยาของตนให้ปรนนิบัติตามอย่างอมิตตดา
บรรดาภรรยาทั้งหลายต่างโกรธเคืองหาว่านางอมิตตดาเป็นต้นเหตุ
จึงพากันไปเยาะเย้ยถากถางนางอมิตตดาขณะที่นางลงไปตักน้ำที่ท่าน้ำ ทำให้นางอมิตตดารู้สึกอับอาย
จึงกลับมาบอกกับชูชกว่าต่อไปนี้นางจะไม่ทำงานอะไรอีก ชูชกจะต้องไปหาข้าทาสมาให้นาง
มิฉะนั้นนางจะไม่อยู่ด้วย
เทพเจ้าได้เข้าดลใจนางให้แนะชูชกไปขอพระกัณหาชาลีมาเป็นทาส ชูชกจำใจต้องไป
ก่อนออกเดินทางชูชกก็จัดการซ่อมแซมบ้านให้แข็งแรง และให้โอวาทนางอมิตตดา
ส่วนนางก็จัดเสบียงที่จะเดินทางไว้พร้อม ชูชกแปลงเพศเป็นชีปะขาว แล้วก็ออกเดินทาง
พบผู้คนที่ไหนก็สอบถามเรื่องพระเวสสันดรเรื่อยไป
พวกชาวเมืองโกรธคิดว่าชูชกจะต้องไปขออะไรจากพระเวสสันดรอีก
จึงช่วยกันทำร้ายชูชกจนต้องหนีกระเจิดกระเจิงเข้าป่าไป เทวดาดลใจให้ชูชกเดินทางไปพบกับพรานเจตบุตรที่กษัตริย์เจตราษฎร์มอบหมายให้คอยดูแลมิให้ใครไปรบกวนพระเวสสันดร
ชูชกหลอกพรานเจตบุตรว่าบัดนี้ประชาชนเมืองสีพีหายโกรธเคืองพระเวสสันดรแล้ว
พระเจ้ากรุงสณชัยใช้ให้เป็นทูตถือพระราชสาส์นไปเชิญเด็จ
พระเวสสันดรกลับพระนคร พรานเจตบุตรหลงเชื่อจึงบอกเส้นทางที่จะไปสู่เขาวงกตแก่ชูชก
กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน มี ๓๕ พระคาถา
พรานเจตบุตรหลงเชื่อกลชูชก
ที่ได้ชูกลักพริกขิงให้พรานดู อ้างว่าเป็นพระราชสาส์น
ของพระเจ้ากรุงสณชัยจะนำไปถวายพระเวสสันดร
พรานเจตบุตรจึงต้อนรับและเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดีและได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรทฤาษี
กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน มี ๘๐ พระคาถา
ชูชกเดินทางไปถึงอาศรมของพระอัจจุตฤาษี
แล้วหลอกลวงพระฤาษีว่า ตนเคยคบหาสมาคมกับพระเวสสันดรมาก่อน
เมื่อพระองค์จากมานานจึงใคร่จะเยี่ยมเยียน
พระฤาษีหลงเชื่อจึงให้ชูชกพักแรมที่อาศรมหนึ่งคืน
รุ่งขึ้นก็อธิบายหนทางที่จะเดินทางว่า จะต้องผ่านภูเขา คันธมาทน์และสระมุจลินท์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ
กับอาศรมของพระเวสสันดร ชูชกจึงลาพระฤาษีเดินทางต่อไป
กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร มี ๑๐๑ พระคาถา
ชูชกเข้าไปขอสองกุมาร
พระเวสสันดรพระราชทานให้ สองกุมารรู้ความจึงหนีไปอยู่ในสระบัว
พระเวสสันดรตามไปพูดจาให้สองกุมารเข้าใจ สองกุมารจึงขึ้นจากสระบัว
ชูชกพาสองกุมารเดินทางโดยเร่งรีบด้วยเกรงว่า หากพระนางมัทรีกลับจากหาผลไม้ก่อนจะเสียการ
กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี มี ๙๐ พระคาถา
เมื่อชูชกพาสองกุมารออกไปพ้นพระอาศรมแล้ว
เทพทั้งปวงก็วิตกว่า
ถ้าพระนางมัทรีกลับมาแต่ยังวันก็จะต้องรีบติดตามหาสองกุมารเป็นแน่
พระอินทร์จึงมีเทวบัญชาให้เทพสามองค์จำแลงเป็นเสือและราชสีห์ไปขวางทางเดินของพระนางมัทรีไว้
ส่วนพระนางมัทรีรู้สึกเป็นทุกข์ถึงสองกุมารเป็นอันมาก
เก็บผลไม้ตามแต่จะได้แล้วก็รีบกลับพระอาศรม
มาพบสัตว์ทั้งสามขวางหน้าอยู่ก็วิงวอนขอทาง
จนพลบค่ำสัตว์ทั้งสามจึงหลีกทางให้ เมื่อมาถึงอาศพระนางมองหาสองกุมาร
แต่ไม่พบ จึงไปถามพระเวสสันดร พระเวสสันดรเกรงว่า ถ้าบอกไป
พระนางมัทรีจะโศกเศร้ามากยิ่งขึ้นไปอีก
จึงแสร้งพูดแสดงความหึงหวงขึ้นเป็นทำนองระแวงที่นางกลับมาจนมืดค่ำ
พระนางมัทรีเจ็บใจก็คลายความโศกลง เที่ยวตามหาสองกุมารไปทุกหนทุกแห่ง แต่ไม่พบ
จึงกลับมายังพระอาศรมของพระเวสสันดร แล้วสลบไปด้วยความโศกเศร้าและสิ้นแรง เมื่อ
พระเวสสันดรแก้ไขจนพระนางมัทรีฟื้น
พระเวสสันดรจึงเล่าให้ฟังว่าได้บริจาคบุตรเป็นทานแก่พราหมณ์เฒ่าไปแล้ว
พระนางมัทรีก็มิได้เศร้าโศก แต่กลับชื่นชมกับมหาบริจาคทานของ
พระเวสสันดรด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้น
กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ มี ๔๓ พระคาถา
พระอินทร์เกรงว่าหากมีใครมาของพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร
ก็จะทำให้
พระเวสสันดรบำเพ็ญภาวนาไม่สะดวก ด้วยไม่มีผู้คอยปรนนิบัติ
ดังนั้นพระอินทร์จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์เฒ่าลงมาขอและได้ให้พรแปดประการแก่พระเวสสันดร
รวมทั้งยังฝากฝังพระนางมัทรีไว้ให้อยู่ปรนนิบัติพระเวสสันดรด้วย
กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช มี ๖๙ พระคาถา
เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่
ชูชกผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนปีนขึ้นไปนอนบนต้นไม้
เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมารให้เดินทางถึงกรุงสีพีโดยปลอดภัย
ขณะเดียวกันพระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝัน
ซึ่งตามคำทำนายนั้นนำมายังความปีติปราโมทย์แก่พระองค์ยิ่งนัก
เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้า
พระเจ้ากรุงสีพีก็ทอดพระเนตรเห็นชูชกและกุมารทั้งสองพระองค์ ครั้งทรงทราบความจริง
พระองค์จึงพระราชทานค่าไถ่คืน หลังจากนั้นชูชกก็ถึงแก่ความตายเพราะกินอาหารมากเกินขนาด
แล้วพระชาลีก็ทูลพระเจ้ากรุงสีพีเพื่อขอให้ไปรับพระบิดาและพระมารดาให้นิวัติคืนพระนคร
ในขณะเดียวกันเจ้านครกลิงคราษฎร์ได้คืนช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่นครสีพี
กัณฑ์ที่ ๑๒ กษัตริย์ มี ๓๖ พระคาถา
พระเจ้ากรุงสญชัยยกทัพไปรับพระเวสสันดร
โดยใช้เวลา ๑ เดือน กับ ๒๓ วัน จึงเดินทางถึงเขาวงกต
เสียงโห่ร้องของทหารทั้งสี่เหล่าทำให้พระเวสสันดรคิดว่าเป็นข้าศึกมาโจมตีนครสีพี
จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขานางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดร
และเมื่อทั้งหกษัตริย์ได้พบเห็น ทรงกันแสงสุดประมาณ รวมทั้งทหารเหล่าทัพ
ทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืนพระอินทร์จึงได้ดลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมาประพรมหกกษัตริย์ให้หายเศร้าโศกและฟื้นพระองค์
กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์ มี ๔๘ พระคาถา
กษัตริย์ทั้งหกยกพลกลับคืนพระนคร
หลังจากที่พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด
พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี
เมื่อเสด็จถึงนครสีพีจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง
ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวัตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน
พระองค์จะประทานสิ่งใดให้แก่ประชาชน ท้าวโกสีย์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว ๗
ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง
พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนมาขนเอาไปตามปรารถนา
ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง
ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรม
บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น