ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกของ นางสาวมัณฑนา ผ่องใส

เมาส์

เม้าส์

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

วิเคราะห์วิจารณ์

คำว่า มหาชาติ หมายถึง การเกิดครั้งยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ หมายความว่าในพระชาติสุดท้ายที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรได้บำเพ็ญบารมีครบถ้วนทุกประการ ก่อนจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลก คำว่า คำหลวง หมายถึงหนังสือที่พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงทรงนิพนธ์หรือหนังสือที่พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงทรงสนับสนุนให้คนอื่นแต่ง เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับศีลธรรม ศาสนา คำประพันธ์ที่ใช้ค่อนข้างหลากหลายมีทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ใช้สวดเข้าทำนองหลวง
            มหาชาติคำหลวง เป็นหนังสือมหาชาติภาษาไทยที่เป็นคำหลวงเรื่องแรกของไทย ซึ่งแต่เดิมได้หายไปบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ ทรงให้แต่งซ่อมจนครบ ๑๓ กัณฑ์ ที่แต่งเพิ่มเข้ามาคือ กัณฑ์หิมพาน กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักบรรพและกัณฑ์กษัตริย์
๑.    ผู้แต่ง               
             นักปราชญ์ราชบัณฑิตหลายคนช่วยกันแต่ง ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จ
พระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๕

๒. ลักษณะการแต่ง
              ใช้คำประพันธ์หลายประเภทในการแต่ง คือมีทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย โดยมีภาษาบาลีแทรกอยู่ทั้งเรื่อง

๓.  วัตถุประสงค์ในการแต่ง
                วรรณคดีเรื่อง มหาชาติคำหลวง ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับนักสวด สวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังเวลาไปอยู่บำเพ็ญการกุศลที่ในวัด เวลาวันนักขัตฤกษ์  เช่น วันเข้าพรรษา ออกพรรษา หรือเทศกาลอื่น ๆ ประเพณีอันนี้ยังมีมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
๔.  สาระสำคัญ
                มหาชาติคำหลวง มีข้อความแบ่งเป็น ๑๓ ตอน ดังนี้
                ตอนที่ ๑ ว่าด้วยกัณฑ์ทศพร จับเอาตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ ครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครราชคฤห์ แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้า        สุทโธทนะพระพุทธบิดาพระประยูรญาติในกรุงกบิลพัสดุ์ ณ ที่นั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษ คือ ฝนดุจน้ำตกลงบนใบบัว เป็นฝนวิเศษ กล่าวไว้ว่าใครนึกอยากจะให้เปียก ก็เปียก ใครไม่อยากให้เปียก ก็ไม่เปียก พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเห็นแล้วเป็นอัศจรรย์จึงกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงแสดงเหตุผลในเรื่องนี้พระพุทธองค์จึงแสดงมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องของพระนางผุสดีขอประทานพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์
                ตอนที่ ๒ ว่าด้วยกัณฑ์หิมพานต์ กล่าวถึงพระเวสสันดรว่าทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสญชัยกับนางผุสดี แห่งแคว้นสีวีราษฎร์ ประสูติที่ตรอกพ่อค้า จึงได้นามว่า เวสสันดร ทรงเป็นนักเสียสละผู้ยิ่งใหญ่มาแต่ทรงพระเยาว์ กล่าวคือเมื่อมีพระชนมายุได้เพียง ๔ พรรษาก็ทรงปรารถนาบริจาคอวัยวะของตน เมื่อพระองค์ได้รับราชสมบัติ ทรงมีพระทัยกว้าง จึงได้พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์ชาวกลิงคราษฏร์ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาวเหล่านั้น ทำให้ประชาชนไม่พอใจกันใหญ่ จึงพากันไปกราบทูลพระเจ้าสญชัยให้เนรเทศ
พระเวสสันดรไปอยู่ป่าหิมพานต์ พระเวสสันดรจึงไปอยู่ป่าหิมพานต์
                ตอนที่ ๓  ว่าด้วยกัณฑ์ทานกัณฑ์ ก่อนที่พระเวสสันดรจะเสด็จไปอยู่ป่าหิมพานต์ พระองค์ทรงมีการบริจาคทานที่ยิ่งใหญ่อีก เขาเรียกว่าสัตตดก มหาทาน แปลว่า การให้ที่ยิ่งใหญ่อย่างละ ๗๐๐ คือให้ช้าง ๗๐๐ เชือกให้ม้า๗๐๐ ตัว ให้รถ ๗๐๐ คัน ให้ทาสชาย ๗๐๐ คน ให้ทาสหญิง ๗๐๐ คน ให้โคนม ๗๐๐ ตัวและให้นางสนม ๗๐๐คน
                ตอนที่ ๔ ว่าด้วยกัณฑ์วนปเวสน์ กล่าวถึงพระเวสสันดรทรงพาพระนางมัทรีพระชายา ชาลีโอรส และกัณฑ์หาพระธิดา เสด็จออกจากเมือง ผ่านแคว้นเจตราษฎร์ไปประทับอยู่ที่เขาวงกตในป่าหิมพานต์ (ป่าหิมพานต์นี้เป็นป่าที่ปกคลุมด้วยหิมะเป็นภูเขาใหญ่ อยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเข้าใจว่าเป็น ภูเขาหิมาลัย)
                ตอนที่ ๕ ว่าด้วยกัณฑ์ชูชก กล่าวถึงชูชก พราหมณ์ผู้เป็นขอทาน ซึ่งได้นางอมิตตดาสาวสวยงามมาเป็นภริยา นางใช้ให้ชูชกไปขอกัณหาและชาลี ชูชกรักภริยาจึงเดินทางดั้นด้นไปสืบหาข่าวที่แคว้นสีวีราษฎร์ ผู้คนพากันเกลียดชังชูชก ชูชกก็พยายามหลบหลีกการทำร้ายของชาวบ้านมาจนได้ เดินทางต่อไปก็ไปพบพรานเจตบุตร ได้หลอกล่อให้พรานเจตบุตรบอกทางไปเขาวงกตจนได้
                ตอนที่ ๖ ว่าด้วยกัณฑ์จุลพน กล่าวถึงชูชกพราหมณ์เฒ่าเดินทางผ่านป่าตามที่พรานเจตบุตรบอกให้ เดินไปเรื่อย ๆ จนถึงอาศรมของอัตจุตฤาษี
                 ตอนที่ ๗ ว่าด้วยกัณฑ์มหาพน กล่าวถึงเฒ่าชูชกได้ใช้วิธีหลอกล่อ เพื่อฤาษีอัตจุตบอกทางไปหาพระเวสสันดร
                ตอนที่ ๘ ว่าด้วยกัณฑ์กุมาร กล่าวถึงชูชกเข้าไปกราบทูลขอชาลีกับกัณหาจาก
พระเวสสันดร พระเวสสันดรทรงพระราชทานให้ ชูชกได้ทุบตีกัณหากับชาลีต่อหน้าพระพักตร์ของพระเวสสันดร ก่อนจะเดินทางจากไป
                ตอนที่ ๙ ว่าด้วยกัณฑ์มัทรี กล่าวถึงพระนางมัทรีที่จะเสด็จกลับจากการหาผลไม้ในป่า เมื่อมาถึงไม่เห็นกัณหากับชาลี ก็ออกติดตามจนค่ำคืนดื่นดึกก็ไม่พบ จนถึงกับเป็นลมสลบลงต่อหน้าพระพักตร์ของพระเวสสันดร เมื่อฟื้นขึ้นพระเวสสันดรจึงตรัสเล่าเรื่องราวให้ฟังโดยตลอด เหตุผลก็คือเป็นการบริจาคครั้งยิ่งใหญ่ของผู้ต้องการออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าพระนางมัทรีถึงจะโศกเศร้าเพียงไร ในที่สุดก็ต้องอนโมทนาสาธุการเห็นดีด้วย
                ตอนที่ ๑๐ ว่าด้วยกัณฑ์สักกบรรพ กล่าวถึงท้าวสักกะ พระอินทร์ ในฐานะที่เป็นจอมแห่งเทวดาเกิดความเกรงพระทัยว่าจะมีผู้มาทูลขอพระนางมัทรีไปเสียอีกคน จึงทรงแปลงพระองค์เป็นพราหมณ์ชรามาทูลขอพระนางมัทรีกับพระเวสสันดรแล้วก็ทรงฝากไว้กับ
พระเวสสันดรนั่นแหละ
                ตอนที่ ๑๑ ว่าด้วยกัณฑ์มหาราช กล่าวถึงตาเฒ่าเจ้าเล่ห์ชูชกเดินทางไปแคว้นสีวีราษฎร์ พระเจ้าสญชัยทรงไถ่กัณหากับชาลีให้เป็นอิสระ และทรงเลี้ยงเฒ่าชูชกอย่างเต็มที่ ปรากฏว่าชูชกสวาปามไปเต็มคราบจนถึงกับต้องตายเพราะความงกกิน
                ตอนที่ ๑๒ ว่าด้วยกัณฑ์ฉกษัตริย์ กล่าวถึงพระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จด้วยพระนางผุสดี กัณหาและชาลี เพื่อไปรับพระเวสสันดรและพานางมัทรีกลับพระนคร เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงพบกันที่เขาวงกต ก็ทรงถึงแก่วิสัญญีภาพทั้ง ๖ พระองค์ ด้วยความดีพระทัยที่ได้พบกันอีก ด้วยทรงนึกว่าคงไม่ได้พบกันอีกแล้ว และด้วยความเศร้าพระทัย ที่ต้องพลัดพรากจากกันไปนาน ในตอนนี้ พระอินทร์ผู้มีนามว่าท้าวสักกะจอมเทวดาได้ทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา สร้างความชุ่มชื่นทำให้กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงฟื้นสติขึ้นมา
                ตอนที่ ๑๓ เป็นตอนสุดท้าย ว่าด้วยกัณฑ์นครกัณฑ์ กล่าวถึงกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ เสด็จกลับถึงพระนคร แคว้นสีวีราษฎร์ และพระเวสสันดรก็ได้ครองราชย์สมบัติตามเดิม บ้านเมืองมีความสงบสุข ประชาชนร่มเย็นตามเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น